Revolutionary Press Agency : Online Journal and News Agency for Peace
สำนักสื่อปฏิวัติ  : วารสารข่าวออนไลน์เพื่อสันติภาพ
8 มิ.ย. 2554 กองหน้าประชาชนรุ่นใหม่ อนุสรณ์ สมอ่อน ตอบคำถามคาใจทำไมต้องปฏิวัติประชาธิปไตย? 
 
อุปสรรคความสำเร็จการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอน ๙
 
เขียนโดย ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร โพส ๑๕ สิงหาคม  ๒๕๕๒ :๑๖.๐๐ น.
 
คณะราษฎรกับคณะผู้ก่อการกองหน้าของมวลราษฎร 
 
 
            (ต่อจากตอนที่แล้ว)
 
 
            หลังจากนิตยสาร “หลักไท” ได้นำบทความตอบคำถาม8 ข้อเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีซึ่งผมให้ชื่ “อาจารย์ปรีดี อุปสรรคของความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย” ลงพิมพ์ในฉบับวันที่ 66 และ 67 แล้ว มีผู้ตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย ตั้งปัญหา ตั้งข้อตำหนิ และคัดค้านหลายคน ซึ่งผมได้ตอบด้วยวาจาไปแล้วโดยเฉพาะในการพบปะสังสรรค์ของขบวนการประชาธิปตยแห่งชาติที่โรงแรมรอแยล และก็คิดอยู่เหมือนกันว่า บทความที่เขียนไปนั้นย่อมาก ไม่ได้ให้ความชัดเจนไปหลายปัญหาคิดอยู่ว่าควรเขียนต่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็พอดีนิตยสาร “หลักไท” มาขอให้ผมเขียนเรื่องการเมืองที่ผมเคยเกี่ยวข้องมาแต่ต้น ซึ่งผมก็รับปากแต่อยากจะขอเพิ่มเติมบทบาทเกี่ยวกับอาจารยืปรีดีที่เคยเขียน ให้ชัดเจนพอสมควรก่อน แล้วจึงเขียนเรื่องการเมืองที่ผมเคยเกี่ยวข้องตามที่ “หลักไท” ต้องการ

            ผมขอชี้แจงปัญหาต่างๆเกี่ยวกับบทความเรื่องอาจารย์ปรีดีเพิ่มเติม ดังนี้
   
            คณะราษฎรตั้งที่ไหน ?

            บางคนกล่าวว่า คณะราษฎรตั้งที่ปารีส บางคนกล่าวว่าคณะราษฎรตั้งในเมืองไทย ผมขอยกข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาดังนี้

            พลโทประยูร ภมรมนตรี เขียนไว้ในหนังสือ “ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ” (หนังสือนี้พลโทประยูรได้เอาต้นฉบับให้ผมตรวจก่อนพิมพ์ เฉพาะตอนที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ตรวจที่ห้องทำงานของท่าน ที่ตึกไทยนิยมผ่านฟ้าประเสริฐ) ว่า

           “ สำหรับข้าพเจ้ากับคุณปรีดี พนมยงค์ก็ได้มีความรักใคร่สนิทสนมกันยิ่งขึ้นตามลำดับ ตอนค่ำลงหลังอาหารก็ออกไปเดินสนทนาคุยกันวันละหลายๆชั่วโมง ในโอกาสนี้ก็ได้วิจารณ์เรื่องการเมืองกันมาเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 ในขณะที่รับประทานอาหารกลางวันอยู่สองต่อสอง ที่ร้านอาหารเรสทัวรองค์ Des Ecoleav Henry-Martin ข้าพเจ้าได้ชักชวนคุณปรีดี พนมยงค์ว่าเราพูดเรื่องการเมืองมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที ซึ่งคุณปรีดีก็ตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจับสองมือบีบแน่นด้วยความยินดีว่า
“ เอาจริงหรือ? ”  ข้าพเจ้าก็รับรองว่า “ เอาจริงแน่ เอาเดี๋ยวนี้ ”
             “ การคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เกิดขึ้น ณ บัดนั้น...ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(จอมพลป.พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก  ได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี(พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ซึ่งเป็นญาติโยมสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณ และชักชวนเข้ามาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง  ส่วนคุณปรีดีได้ชักชวนนายจรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้อีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร.ตั้ว ลพานุกรมจากสวิตเซอร์แลนด์ กับนายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในปารีส เข้ามาอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2467  ที่บ้านพักของข้าพเจ้าที่ 5 Rue du Sommerad ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกข้าพเจ้าได้ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ผู้อาวุโสและเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ เป็นประธานในที่ประชุม...”

                 นี่คือข้อเขียนของพลโทประยูร ซึ่งผ่านสายตาผมก่อนพิมพ์ แต่ข้อความตอนนี้ผมไม่สนใจเพราะเป้นเหตุการณ์ก่อนผมเกี่ยวข้อง

                 ทีนี้ ขอนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือ “ บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ” เขียนโดยอาจารย์ปรีดีว่า
 
                “ การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร มีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ Rue du Sommerad ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั่น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน คือ

                 1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล้กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6 
                 2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส
                 3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส
                 4. นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 
                5. หลวงสิริ ราชไมตรี นามเดิมจรูญ นามสกุลสิงหเสนี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมและเป็นนายสิบตรีในกองทหาร  อาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
                 6.นายแนบ พหลโยธินเนติบัณฑิตอังกฤษ
                 7.ข้าพเจ้า
 
                 “ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป”  นี่เป็นข้อเขียนของอาจารย์ปรีดี 

                 เมื่อนำข้อเขียนของพลโทประยูร กับของอาจารย์ปรีดีมาเปรียบเทียบกันมีข้อแตกต่างกัน เช่น พลโทประยูร เรียกการประชุมนั้นว่าเป็นการประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร สถานที่พลโทประยูรบอกว่าเป็นบ้านพักของท่าน อาจารย์ปรีดีบอกว่า เป็นที่ซึ่งคนเหล่านั้นเช่าไว้เฉพาะการประชุมนั้นชื่อสถานที่ดูจะเป็นชื่อเดียวกัน  แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นที่เดียวกันหรือเปล่า วันเวลาพลโทประยูรบอกว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 อาจารย์ปรีดีบอกว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2470 (1927) พลโทประยูรบอกว่าที่ประชุมเสนอ ร.ท.แปลก เป็นประธานอาจารย์ปรีดีบอกว่า ที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานที่ประชุมและหัวหน้าคณะราษฎร 

                 แต่ในความแตกต่างเหล่านี้ ผมขอถือเอาข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีเป็นหลัก ของพลโทประยูรเป็นส่วนประกอบ
 
                 ฉะนั้น ผมจึงยึดถือว่า คณะราษฎรตั้งที่ปารีส ไม่ใช่ตั้งที่ประเทศไทย และก็ตอบปัญหาอย่างนี้เสมอ
 
                 คณะราษฎรกับคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือคณะผู้ก่อการฯต่างกันอย่างไร
 
                 อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันอีกตอนหนึ่งว่า 

                 “ ค.ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งแรก เป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสาย ที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจาณาตัวบุคคล แล้วนำเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเอกฉันท์เท่านั้น

                “ ง. การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง ความกล้าหาญ ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้น จึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบการปกครองดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภทคือ

                “ ดี 1.ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่า ผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้แต่เนิ่นๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจ มิให้ถือเพียงว่า บุคคลใดเป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็ชวนเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลก และอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่าง แต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่ แล้วพูดเลอะเทอะก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนเข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ แต่เมื่อยึดอำนาจได้ในวันที่ 24 มิถุนายนแล้ว ไม่มีความลับที่จะปิดบัง จึงชวนให้ร่วมมือได้

                “ ดี 2.  ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้            

               “ ดี 3. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จ” นี่เป็นข้อเขียนของอาจารย์ปรีดี

                ในแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหารและพลเรือน ที่รู้การกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้นและได้ยึดอำนาจกษัตริย์ไว้ได้แล้ว  ” ซึ่งแสดงว่าคณะราษฎรเป็นผู้ยึดอำนาจ

                แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเรียกผู้ยึดอำนาจว่าคณะราษฎร แต่ทรงเรียกว่าคณะทหารบ้าง คณะผู้ก่อการบ้าง เช่นพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือของคณะราษฎร ซึ่งกราบบังคมทูลอัญเชิญให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีข้อความตอนต้นว่า “ ด้วยได้ทราบความตามสำเนาหนังสือที่ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธร คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน...”     จะเห็นได้ว่า ทรงเรียกผู้ยึดอำนาจว่า คณะทหาร
 
                 ในพระราชบันทึกเสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรก่อนทรงสละราชสมบัติเล็กน้อย มีข้อความว่า “ เมื่อพระยาพหลฯและคณะผู้ก่อการฯร้องขอให้ข้าพเจ้าอยู่ครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าได้ยินดีรับรอง...”  ในที่นี้ทรงเรียกผู้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า คณะผู้ก่อการฯ และก็ทรงเรียกเช่นนี้โดยตลอด นอกจากแห่งเดียวในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ทรงใช้ว่า  “ คณะราษฎรคณะหนึ่ง ”  ดังประโยคแรกที่ว่า “ การที่คณะราษฎรคณะหนึ่งซึ่งมีความปรารถนาแรงกล้า ในอันจะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป...” แต่ก็ไม่ทรงเรียกว่า คณะราษฎรเฉยๆทรงเรียกว่าคณะราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งก็คงจะหมายถึงคณะผู้ก่อการฯนั่นเอง และความจริง ร่างพระราชกำหนดนี้คณะราษฎรเป็นผู้ร่าง และทูลเกล้าฯถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย  ผมเองไม่เคยเห็นสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเรียกผู้ยึดอำนาจว่าคณะราษฎร เห็นแต่ทรงเรียกว่าคณะผู้ก่อการฯ

                 อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "คคณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ว่า “การรับรองชื่อคณะราษฎรโดยผู้สำเร็จราชการพระนครแทนองค์พระมหากษัตริย์ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯประมุขของปวงราษฎรไทย รับรองชื่อของคณะราษฎรตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ”

               ผมเห็นว่าสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ มีส่วนแห่งความจริง ดังคำประกาศของผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครว่า
 
              “ ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น
             ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลาย ช่วยกันรักษาความสงบอย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็น

             (ลงพระนาม ) บริพัตร ”

               บริพัตรคือ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ประทานคำประกาศนั้นในขระทรงถูกควบคุมอยู่ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงย่อมทรงประกาศตามที่ผู้ควบคุมและมีอำนาจต้องการ จะถือว่าทรงรับรองชื่อนี้ด้วยจริงใจมิได้ และจะถือว่าเป็นการรับรองของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ยิ่งไม่ได้ เพราะเป็นคนละคน ซึ่งอยู่ในคนละสภาพแวดล้อม

               ทีนี้ มาดูคำอธิบายของอาจารย์ปรีดี  อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ในหนังสือ "คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ว่า

               " เหตุที่เรียกชื่อของคณะผู้ก่อการฯว่า “คณะราษฎร” ก่อนที่ผู้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯหลายคนหลายกลุ่มจะได้รวมเป็นคณะเดียวกันนั้น แต่ละกลุ่มก็มีชื่อของตนเองบ้าง และยังไม่มีชื่อของตนเองบ้าง แต่เมื่อมีผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองได้รวมเป็นคณะเดียวกันแล้ว ก้ได้ใช้ชื่อคณะเดียวกันว่า “ คณะราษฎร” ตามที่ผมได้เสนอในที่ประชมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) ต่อจากนั้นมา ผู้ที่เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่อยู่ในต่างประเทศและที่อยู่ในประเทศไทย ก็ใช้ชื่อคณะว่า “ คณะราษฎร...”

               แต่ในหนังสือ “บางเรื่อง เกี่ยวกับการตั้งคณะราษฎร และระบบประชาธิปไตย” อาจารย์ปรีดีอธิบายเรื่องนี้ไว้อีกอย่างหนึ่งคืออธิบายว่า
 
               “การที่คณะราษฎรเรียกสมาชิกประเภท ดี 1.ว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือโดยย่อว่า “ผู้ก่อการ” นั้นก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า บุคคลประเภทนี้เป็นเพียง “กองหน้า” (Vanguard) ของมวลราษฎร ที่มีความต้องการเสรีภาพและเสมอภาค ยิ่งกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมาชิกประเภทดี 2. และดี 3. เป็นกำลังหนุนตามลำดับ...”

               ในเรื่องนี้ คำอธิบายของอาจารย์ปรีดีขัดแย้งกันเอง ในที่หนึ่งอาจารย์ปรีดีอธิบายถึงเหตุที่เรียกชื่อคณะผู้ก่อการว่าคณะราษฎรซึ่งหมายความว่า คณะราษฎรเป็นชื่อของคณะผู้ก่อการ นัยหนึ่ง คณะผู้ก่อการก็คือคณะราษฎรนั่นเอง คณะผู้ก่อการกับคณะราษฎรเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในอีกที่หนึ่ง อาจารย์ปรีดีอธิบายว่าผู้ก่อการคือสมาชิกประเภท ดี 1.ของคณะราษฎร

               เมื่อเป็นเช่นนี้ การเอาสมาชิกประเภทดี 1. มารวมกันก็เป็นคณะผู้ก่อการ ฉะนั้นคณะผู้ก่อการก็คือคณะสมาชิกประเภท ดี 1.ของคณะราษฎรซึ่งจัดให้เป็น Vanguard หรือกองหน้าของมวลราษฎร อาจารย์ปรีดีถือว่าสมาชิกประเภท ดี1.ของคณะราษฎรหรือคณะผู้ก่อการ เป็นกองหน้าของมวลราษฎร

               สำหรับความเห็นของผมนั้น ในสถานการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กองหน้าหรือ Vanguard ของมวลราษฎร ควรเป็นคณะราษฎร  ไม่ใช่สมาชิกประเภท ดี 1.ของคณะราษฎร เพราะว่า คณะราษฎรนั้นเป็นพรรคการเมืองที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่สมาชิกประเภทดี 1. เป็นเพียงส่วนของพรรคการเมืองนั้น กองหน้าหรือVanguard ของมวลราษฎรควรเป็นพรรคทั้งหมด ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของพรรค

               ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่า คำอธิบายของอาจารย์ที่ว่า คณะราษฎรเป็นชื่อของคณะผู้ก่อการ จึงเป็นการถูกต้องและที่อธิบายว่าคณะผู้ก่อการเป็นกองหน้าของมวลราษฎรเพราะประกอบด้วยสมาชิกคณะราษฎรประเภท ดี 1. นั้นไม่ถูกต้อง เพราะกองหน้าของราษฎรในขณะนั้น ก็คือคณะราษฎร ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคณะราษฎร คือสมาชิก ดี1. เท่านั้น

               สรุปคำอธิบายของผม คณะราษฎรกับคณะผู้ก่อการคือสิ่งเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อ
 
 
 
           (อ่านต่อตอนหน้า)
 
 
 
 
 
 
         อ่านย้อนหลัง...
 
 
 
 
 
 
 



Webboard is offline.